วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เรียนภาษาอังกฤษ ผ่านอินเทอร์เน็ต

Google Search Tips
ศึกษาศัพท์พื้นฐานที่ควรทราบ

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทำใจให้พร้อมที่จะฝึกพูดภาษาอังกฤษโดยไม่มีครูสอน

ทำใจให้พร้อมที่จะฝึกพูดภาษาอังกฤษโดยไม่มีครูสอน


เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ  สำหรับบางท่าน เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก...  ยากกว่าเนื้อหาการฝึกเสียอีก  เพราะมันยากมาจากใจ ถ้าเริ่มต้นด้วยใจที่ยาก ทุกเรื่องก็ยากหมด ผมขอชวนให้ท่านเข้าไปอ่านก่อนนะครับ

เริ่มต้นด้วยความเชื่อ:
คนไทยจำนวนไม่น้อยมีความเชื่อว่า  ถ้าจะพูดภาษาอังกฤษให้เป็น ต้องมีคนตัวเป็น ๆ ให้เราพูดด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือต้องมีครูสอน หรือมีฝรั่งให้ฝึกพูดด้วย  คนที่มีฐานะดี และ ได้เรียนในโรงเรียนนานาชาติหรือเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ, ได้ไปเรียนเมืองนอก,  หรือได้ไปเข้า summer camp ภาษาอังกฤษ, หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีเงินไปเข้าเรียนหลักสูตรสนทนาภาษาอังกฤษตามโรงเรียนที่เปิดสอนอยู่โดยทั่วไป หลายคนเชื่อว่า ต้องทำหรือได้อย่างนี้เท่านั้นจึงจะพูดภาษาอังกฤษได้  ถ้าไม่อย่างนี้ไม่มีทางพูดได้ แต่ถ้าเป็นอย่างนี้จริง ๆ คนมีเงินเท่านั้นจึงจะพูดภาษาอังกฤษได้ คนไม่มีเงินอย่าหวังว่าจะพูดได้

ถ้าท่านคิดอย่างข้างบนผมก็ไม่เถียงล่ะครับ  เพราะเราก็เห็นอยู่แล้วว่า เมื่อเราต้องพูดกับคน ตอนฝึกพูด เราก็ควรฝึกพูดกับคน ขืนไปฝึกพูดกับต้นไม้ มันก็กระไรอยู่

แต่ถ้าเราไม่มีเงิน, ไม่มีเวลา,  ไม่มีโอกาส ไม่มีความพร้อมต่าง ๆ นานา ทำให้เราไม่สามารถฝึกพูดภาษาอังกฤษกับคนได้มากเท่าที่เราต้องการ  เราก็เหลือทางเลือกสุดท้ายซึ่งเป็นคำตอบสุดท้าย นั่นคือ ฝึกพูดภาษาอังกฤษโดยไม่มีครูสอน 

ผมอยากจะบอกว่า... ขอให้เราเชื่ออย่างนี้ไว้เป็นข้อแรกก่อนว่า  เราสามารถฝึกพูดภาษาอังกฤษและได้ผล โดยไม่ต้องมีครูสอน  ขอให้เราเชื่อเช่นนี้อย่างหนักแน่น  ถ้าท่านไม่เชื่ออย่างนี้  และขณะเดียวกันก็พยายามหาโอกาสที่จะฝึกพูดกับฝรั่ง ซึ่งมันก็หาไม่ได้สักที  และท่านก็ไม่ยอมฝึก-ไม่ยอมเชื่ออย่างที่ผมว่า  จึงทำให้ท่านไม่ยอมฝึกกับตัวเอง  ทั้ง ๆ เมื่อฝึกแล้วก็ได้ผล, แต่เมื่อไม่เชื่อก็จึงไม่ฝึก, เมื่อไม่ฝึกก็ไม่ได้ผล เหตุผลหรือตรรกะมันก็มีอยู่ง่าย ๆ แค่นี้แหละครับ

เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านตั้งต้นด้วยความเชื่อ ซึ่งก็คือความเห็นที่ถูกต้อง (ภาษาพระเรียกว่า  สัมมาทิฐิ) ว่า คนเราทุกคนสามารถฝึกพูดภาษาอังกฤษอย่างได้ผล โดยไม่ต้องมีครูสอน  ทุกวันนี้ ด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยียุคอินเทอร์เน็ต   เราสามารถทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในยุคก่อน เป็นไปได้ในยุคนี้ราวปาฏิหาริย์   และปาฏิหาริย์อย่างหนึ่งก็คือ การฝึกพูดภาษาอังกฤษโดยไม่มีครูสอน นี่แหละครับ

เมื่อมีความเชื่อแล้ว ให้ตามด้วยอิทธิบาท ๔:
มีความเชื่อที่ถูกต้อง หรือสัมมาทิฐิ อย่างเดียวยังไม่พอ ต้องมีอิทธิบาท ๔ อีกด้วย จึงจะทำให้การฝึกพูดภาษาอังกฤษโดยไม่มีครูสอนได้ผลสำเร็จ  คือ ต้องมี

-ฉันทะ มีความรักที่จะฝึก มีความสุข ความเพลิดเพลิน หรือรู้จักแสวงหาความสนุกสนานจากการฝึก...  บนหนทาง 100,000 ก้าวที่จะไปสู่เป้าหมาย เมื่อเดินไปได้ 500 ก้าวก็ให้พอใจว่าเดินได้ 500 ก้าวแล้วนะ ไม่ใช่เอาแต่ท้อใจว่า เหลืออีกตั้ง 99,500 ก้าวที่ยังต้องเดิน เมื่อไม่มีความสุขในการเดิน  ไม่มีความสุขในการฝึก ก็จะหยุดฝึก
-วิริยะ มีความเพียรที่จะฝึก ได้อย่างต่อเนื่อง ยาวนาน
-จิตตะ มีสมาธิหรือความตั้งใจมั่นในการฝึก  ไม่ใช่ฝึกอย่างใจลอย ฝันหวาน
-วิมังสา ใคร่ครวญ สังเกต ดูให้รอบ ๆ ว่า เราน่าจะปรับปรุงการฝึกของเราให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร  ถ้าเห็นว่าวิธีอย่างที่ทำอยู่ดีแล้ว ก็ทำต่อไปไม่หยุด ทำด้วยความรัก ความเพียร ความตั้งใจมั่น

นี่คือเรื่องแรกก่อนการเข้าบทเรียน คือ   การทำใจให้เหมาะสมที่จะฝึกพูดภาษาอังกฤษโดยไม่มีครูสอน

บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมผมทำตัวเป็นพระเทศน์  แทนที่จะบอกเทคนิคในการฝึกอย่างตรงไปตรงมา ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป  ผมอยากจะพูดว่า  ทุกวันนี้เมื่อพูดถึงความสำเร็จ คนพูดถึงเรื่องใจน้อยเกินไป  จริง ๆ แล้ว เมื่อจะพูดถึงการทำอะไรให้สำเร็จ ควรจะพูดให้ครบทั้ง ทำอย่างไร และ ทำใจอย่างไร  คือ ควรจะพูดให้ครบทั้งทางกายและทางใจ ตามแนวทางของสัมมาทิฐิและอิทธิบาท

หลายคนเรียนจบได้ปริญญามาครอบครอง เรียนด้วยอิทธิบาทข้อ  ๒ ข้อเดียวล้วน ๆ คือมีวิริยะเพียงพอให้ทำข้อสอบได้  แต่ขาดอิทธิบาทข้อ ๑ (ฉันทะ), อิทธิบาทข้อ ๓(จิตตะ-สมาธิ), และอิทธิบาทข้อ ๔ (เรียนให้รู้ลึก)  ผลลัพธ์ที่เรามองเห็นก็คือ ขณะที่ยังเรียนอยู่ ก็รู้สึกเบื่อ, เครียด และพอสอบไล่ผ่าน เนื้อหาที่เรียนมาก็ลืมหมด  หลายคนเอานิสัยการเรียนลักษณะนี้ มาใช้กับการฝึกภาษาอังกฤษโดยไม่มีครูสอน  ท่านเองก็น่าจะพยากรณ์ได้ว่า ผลที่ได้รับจะเป็นอย่างไร

ความเชื่อ ความรัก ความพยายาม ความตั้งใจจดจ่อ ความใส่ใจปรับปรุงสิ่งที่ทำ... นี่คือเรื่องของการเตรียมใจใพร้อมสำหรับการฝึกพูดภาษาอังกฤษโดยไม่มีครูสอน  ท่านมีหรือยังครับ? หรือมีมากน้อยเพียงใด?